การแจ้งความ การร้องทุกข์ ความหมายของคำร้องทุกข์

“คำร้องทุกข์” ในทางกฎหมาย หมายถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีผู้กระทำผิดขึ้น ทำให้เกิดความเสียหาย จะรู้ตัวคนกระทำผิดหรือไม่ก็ได้ และผู้เสียหายได้แจ้งความโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษตามกฎหมาย ในการแจ้งความเพื่อให้เป็นคำร้องทุกข์ที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ผู้เสียหายควรเตรียมข้อมูลต่างๆไปดังนี้ ชื่อและที่อยู่ผู้ร้องทุกข์ ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคล ควรแจ้งให้เจ้าพนักงานทราบ และเตรียมเอกสาร หลักฐานการมอบอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้วย ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ที่ผู้กระทำความผิดนั้นได้กระทำต่อผู้เสียหาย โดยในการแจ้งความผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องรู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่ควรให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตามที่ทราบให้มากที่สุด ความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้กระทำผิด อาจจะเป็นความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ชื่อเสียง หรือเสรีภาพ โดยสิ่งสำคัญในคำร้องทุกข์จะต้องมีข้อความที่ระบุว่า ผู้เสียหายมีความประสงค์ที่จะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษทางอาญา การแจ้งความนี้จึงจะเป็นคำร้องทุกข์ที่สมบูรณ์ ไม่ใช่แค่การแจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น การแจ้งความที่เป็นคำร้องทุกข์ที่สมบูรณ์มีความสำคัญ เพราะในคดีความผิดต่อส่วนตัว เช่น ยักยอก ฉ้อโกง บุกรุก ทำให้เสียทรัพย์ ฯลฯ มีอายุความ 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด หากเราไม่แจ้งความหรือแจ้งความไม่ถูกต้อง เมื่อพ้น 3 เดือนก็เท่ากับว่าขาดอายุความ เราไม่สามารถดำเนินคดีอาญากับคนกระทำผิดได้ อาจเหลือแต่ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเท่านั้น ดังนั้นในคดีความผิดต่อตัว หากผู้เสียหายไม่สามารถตกลงกับผู้กระทำความผิดได้ ควรไปแจ้งความเป็นคำร้องทุกข์ที่สมบูรณ์ เพื่อไม่ให้หมดอายุความที่จะดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิด หากตกลงกันได้ภายหลัง จึงค่อยไปถอนแจ้งความคำร้องทุกข์ได้ ปรึกษาปัญหากฎหมายเพิ่มเติม ทนายหยิน โทร.…